Image Description
Soranat Chamkring
  • 25 April 2024
  • 10 mins read

ภาษี 101 เรื่องที่มหาลัยไม่ได้สอน

ภาษี 101 เรื่องที่มหาลัยไม่ได้สอน

ทุกคนเคยสงสัยกันหรือไม่ ว่าภาษีที่เราใช้จ่ายอยู่ทุกวันนี้มันมีอะไรบ้าง แล้วทำไมเราถึงเพิ่งมารู้เรื่องภาษีแบบจริงจังตอนทำงาน ทั้ง ๆ ที่มันควรจะถูกสอนอยู่แล้วในหลักสูตรได้หลักสูตรหนึ่งก่อนจะจบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องภาษีแบบง่ายให้ฟังกัน ตามหัวข้อดังต่อไปนี้

ภาษีคืออะไร ใครเป็นคนจ่าย

ภาษีคือ เงินที่เก็บจากประชาชนตามข้อกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศในภาพรวม ทั้งระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค การคมนาคม ฯลฯ โดยภาษีจะประกอบไปด้วยภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีตามความรับผิดชอบของตน

การเสียภาษีนั้นไม่ได้แปลว่าผู้เสียภาษีจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง แต่จะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น การมีถนนหนทางที่ดีขึ้น การส่งเสริมนโยบายโดยรัฐบาล ทั้งด้านการศึกษา และการส่งเสริมให้คนที่ขาดแคลนทรัพยากรนั้น เข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น ระบบภาษีของทุก ๆ ประเทศมีไว้เพื่อเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขของคนในประเทศ คล้ายกับระบบประกันสังคม แต่ระบบภาษีนั้นใหญ่กว่า

การยื่นภาษีในปัจจุบันสามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ ที่เว็บของกรมสรรพากรโดยตรง ผ่านระบบ E-Filling หากเรามีรายรับที่อยู่ในระบบ เช่น เงินเดือน เงินหัก ณ ที่จ่าย และค่าใช้จ่ายตามนโยบายลดหย่อนภาษีของรัฐบาล ข้อมูลในระบบจะถูกเชื่อมไปยังการกรอกภาษีของเราได้ และสามารถใช้ในการยื่นแบบภาษีได้เลย แต่หากมีรายรับทางอื่นก็สามารถกรอกเพิ่มเติม พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานการเสียภาษีไปได้ด้วยเช่นกัน

กรณีที่เราไม่เสียภาษีในรูปแบบที่ถูกต้อง สรรพากรก็จะมีการคิดค่าปรับ พร้อมดอกเบี้ยของเงินภาษีที่เราติดค้างไว้ ซึ่งถ้านาน ๆ เข้าก็จะคิดเป็นเงินจำนวนมาก

แต่ในกรณีที่เราเสียภาษีไปเกินจากที่ต้องเสีย การขอคืนภาษีก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ทั้งการเตรียมเอกสาร การรอระยะเวลาตรวจสอบที่ไม่รวดเร็วเหมือนตอนที่เราต้องเสียภาษี และยังไม่นับว่าเราจะไม่ได้เงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายสรรพากรเกินไปด้วย ทั้งนี้ผมไม่ได้ให้ทุกคนตั้งแง่กับสรรพากรนะครับ เงินที่จ่ายเกินไปนั้นอาจจะเป็นเพราะเราคำนวณภาษีที่ต้องเสียไม่ถูกต้องเอง ให้เข้าใจแบบนั้นครับไม่ว่าใครจะบอกยังไงก็ตาม ที่นี่เรามาดูกันดีกว่าว่าภาษีที่เราพูดถึงนั้นมีอะไรบ้าง

ภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่เก็บจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีรายได้ในการประกอบอาชีพถึงเกณฑ์เสียภาษี

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เก็บจากการซื้อสินค้า อุปโภค บริโภคและบริการต่าง ๆ หรือในส่วนที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามันเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%)

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่มีรายได้เกิน 120,000 บาท ต่อปีมีหน้าที่ในการยื่นเอกสารเสียภาษีบุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากร ตามข้อกฏหมาย แม้ว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเริ่มเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีรายได้เกิน 150,000 บาทต่อปี โดยที่ไม่มีการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ

ฐานภาษีนั้นจะถูกคำนวณจากรายได้สุทธิ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จุดนี้เองเป็นจุดที่คนเข้าใจผิดกันค่อนข้างมาก เวลาที่เราได้ยินว่าลดหย่อน 10,000 บาท ไม่ได้แปลว่าหลังคำนวณภาษีแล้วเราจะจ่ายส่วนที่เป็นภาษีน้อยลง 10,000 บาท แต่หมายถึงว่า 10,000 บาทนั้นจะกลายไปเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถลดหย่อนได้ เพื่อเอาไปใช้ในการหารายได้สุทธิแล้วมาคำนวณภาษีภายหลัง

อีก 1 เรื่องที่คนมักจะเข้าใจผิดเรื่องฐานภาษีก็คือ สมมติเราต้องอยู่ในฐาน ภาษี 10% ก็แปลว่า เราจะต้องเสียภาษี 10% จากรายได้สุทธิ จริง ๆ แล้ว ภาษีเป็นรูปแบบขั้นบันได หมายถึงว่าเมื่อเราเสียภาษีที่ 10% เราจะต้องแบ่งรายได้สุทธิออกเป็นส่วน ๆ ตามช่วงของเงินที่เสียภาษี

สมมติว่า เรามีรายได้ 400,000 บาท ต่อปี โดยไม่มีค่าลดหย่อนใด ๆ เราจะต้องเสียภาษีทั้งหมด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก 7,500 บาท และช่วงที่ 2 อีก 10,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องเสียภาษีทั้งหมด 17,500 บาท

รายได้สุทธิ (บาท)อัตราภาษีฐานภาษีจำนวนภาษีสูงสุด
ไม่เกิน 150,000 บาท-150,0000
ตั้งแต่ 150,001 บาท - 300,000 บาท5%150,0007,500
ตั้งแต่ 300,001 บาท - 500,000 บาท10%200,00020,000
ตั้งแต่ 500,001 บาท - 750,000 บาท15%250,00037,500
ตั้งแต่ 750,001 บาท - 1,000,000 บาท20%250,00050,000
ตั้งแต่ 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท25%1,000,000250,000
ตั้งแต่ 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท30%3,000,000900,000
ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป35%--

หากรายได้เกิน 120,000 บาท ต่อปี เราจำเป็นจะต้องยื่นแบบภาษีต่อกรมสรรพากร โดยจะมีการยื่น ทวิ 50 สำหรับการแสดงที่รายได้ทั้งรูปแบบบริษัทรวมไปถึงการรับเงินแบบหัก ณ ที่จ่าย สามารถใช้การลดหย่อนภาษีของบุคคลธรรมดานั้นมีทางเลือกมากมาย ที่ต้องเตรียมเอกสารตอนยื่นภาษี ดังต่อไปนี้

1.สิทธิลดหย่อนส่วนตัว

  • - ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่เกิน 60,000 บาท
  • - คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ 60,000 บาท หากคู่สมรสเป็นผู้มีเงินได้สามารถยื่นภาษีร่วมกันได้
  • - ลูกตามกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี และไม่ได้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยที่บุตรคนที่ 2 จะต้องเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
  • - ลูกบุญบรรม คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 3 คน โดยที่ลูกบุญธรรมจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • - ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดนการตั้งครรภ์แฝดจะนับเพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น
  • - ค่าอุปการะพ่อ และแม่ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ลดหย่อนคนละ 30,000 บาท เมื่อสมรสแล้วสามารถนำรายชื่อ พ่อ แม่ของคู่สมรสมายื่นด้วยได้ แต่จะไม่สามารถใช้สิทธิ์การอุปการะซ้ำซ้อนได้ เช่น ลูก 2 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิ์อุปการะพ่อพร้อมกันได้ จะมีแค่คนเดียวที่ลดหย่อนได้
  • - เบี้ยประกันสุขภาพสำหรับพ่อ แม่ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยพ่อและแม่จะต้องไม่มีรายได้เกิน 30,000 บาท *ลูกบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
  • - ค่าประกันคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนไม่เกิน 10,000 บาท
  • - ค่าเลี้ยงดูผู้ทุพพลภาพ/คนพิการ ที่มีบัตรรับรอง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยจะต้องดูแลไม่น้อยกว่า 180 วัน

2.ประกัน รวมกันจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท*

  • - ประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาท
  • - ประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • - เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท ต้องเป็นบริษัทภายในประเทศไทยเท่านั้น และมีกรมธรรม์กำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป

3.ประกันสังคม

  • - ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท

4.การออม และการลงทุน รวมกันจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท**

  • - เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หักตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
  • - กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund ) ไม่เกิน 15% ของรายได้
  • - กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ไม่เกิน 30% ของรายได้
  • - กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ไม่เกิน 30% ของรายได้

5.นโยบายของรัฐบาล

  • - ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่า หรือสร้างที่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท ต้องมีหนังสือรับรอง
  • - โครงการช็อปดีมีคืน ค่าซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยต้องขอเอกสาร E-tax ที่ออกให้สรรพากร กับร้านค้าที่เข้าเงื่อนไข ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท

6.เงินบริจาค

  • - เงินบริจาคทั่วไป แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
  • - เงินบริจาคที่ลดหย่อนได้ 2 เท่า บริจาคให้สถานศึกษา สถานกีฬา สถานพยาบาล ผ่าน E-Donation แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
  • - เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนไม่เกิน 10,000 บาท ต้องมีเอกสารรับรอง

สำหรับผู้มีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา หากมีการชำระภาษีไม่ถูกต้องจะมีการคิดค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย ออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่มีการยื่นเพิ่มเติม และกรณีที่ยื่นเกินกรอบระยะเวลาปกติ สามารถดูรายละเอียดได้ ได้ที่นี่

หากสรรพากรตรวจพบว่ามีการหลบเลี่ยงภาษีก็จะโดนอีกกรณีนึง อาจมีโทษปรับไม่ เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งจำ ทั้งปรับ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อตัวบุคคลในอนาคตอย่างแน่นอน

สามารถคำนวณวิธีการลดหย่อนภาษีเบื้องต้นได้ที่ โปรแกรมคำนวณภาษี : หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรามีรายได้เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี เราจะต้องทำการจด Vat ด้วย และเราสามารถจดได้ในแบบที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่แนะนำเพราะมันจะเกิดปัญหาในกรณีที่บางปีรายได้เราไม่ถึง ประกอบกับบุคคลธรรมดานั้นมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 35% ดังนั้นเมื่อมีรายรับเข้ามาเป็นจำนวนมาก คนจะมักจะใช้วิธีการจดบริษัท ซึ่งบริษัทนั้นถึงเป็นธุรกิจแบบนิติบุคคลที่มีอัตราการเสียภาษีน้อยกว่า

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีความแตกต่างกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายส่วน ทั้งเรื่องรอบระยะเวลาบัญชี 12 เดือน วิธีการคำนวณภาษี และอัตราการเสียภาษี ภาษีประเภทนี้จะคำนวณจากกำไรของบริษัทเป็นหลัก โดยสามารถหักลดค่าใช้จ่ายที่มีใบกำกับภาษีได้ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดซื้ออุปกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ ในกรณีที่บริษัทมีการขาดทุน จะไม่มีการเสียภาษี นอกจากนั้นหากเป็นบริษัท SMEs สามารถนำผลขาดทุน ไปหักกับกำไรต่อปีที่จะเกิดในอนาคตไปได้อีก 5 ปีด้วย และอัตราการเสียภาษีสูงสุดของ ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 20%

กำไรสุทธิอัตราภาษีฐานภาษีจำนวนภาษีสูงสุด
ไม่เกิน 300,000 บาทยกเว้น150,0000
ตั้งแต่ 300,001 บาท - 3,000,000 บาท15%1,700,000255,000
3,000,000 บาทขึ้นไป20%--

แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเท่านั้น ภาษีเงินได้แบบนิติบุคคลนั้นจะต้องมีการจ้างผู้ทำบัญชี และมีการตรวจสอบบัญชีก่อนยื่นเอกสารให้สรรพากร และการนำเงินออกจากบริษัทเข้าบัญชีส่วนตัวก็จะต้องมีการเสียภาษีซ้ำซ้อน สามารถทำการจ่ายภาษีแบบเหมาให้สรรพากรไปเลย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาจัดการในส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายหลัง

นอกจากนี้การตั้งบริษัท ยังจะต้องทำเอกสารภาษีให้กับพนักงานในบริษัทด้วย เนื่องจากพนักงานเองก็เป็นผู้มีเงินได้แบบบุคคล บริษัทมีหน้าที่ต้องออกเอกสาร ทวิ 50 ให้พนักงาน พร้อมกับออกเอกสาร (ภ.ง.ด. 1) สรรพากรภายใน 150 วันหลังจากวันปิดรอบบัญชี (ปกติคือวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป) ด้วยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) เพื่อที่สรรพากรจะทำการเก็บข้อมูลของพนักงานในบริษัทเราว่ามีรายรับถูกต้องตามที่ยื่นแบบภาษีหรือไม่

ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นภาษีเงินได้ประเภทหนึ่งที่ใช้บังคับจัดเก็บจากกิจการที่ ได้รับสัมปทานผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งมีลักษณะเกี่ยวข้องกับภาษีอากรหลายประเภท การผลิตมี ขั้นตอนและการลงทุนที่แตกต่างไปจากกิจการอื่น ๆ จึงมีบทบัญญัติจัดเก็บเป็นพิเศษไปจากภาษี

รายได้ของภาษีปิโตรเลียมมาจาก ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม, มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย, มูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง, ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน, และยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

การที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นนั้นมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น กองทุนน้ำมันมีการอุ้มน้ำมันดีเซล เพื่อแบกรับต้นทุนการผลิตภาพรวมของประเทศ รถยนต์ที่ใช้ดีเซลส่วนมากเป็นรถที่ใช้ในการขนส่ง หรือแม้กระทั่งการเพิ่มราคาค่าการตลาดลงไปในราคาน้ำมัน ทำให้เกิดภาษีซ้ำซ้อน ภาระจึงมาตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องใช้น้ำมันในราคาแพงมาก ๆ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat เป็นภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าและบริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ภาษีนี้ทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศ แรงงานข้ามชาติ หรือนักท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแต่มีการจ่ายภาษีประเภทนี้ทางอ้อมเมื่อมีการซื้อสินค้าและบริการเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปซื้อน้ำเปล่าที่ร้านสะดวกซื้อใน ราคา 10 บาท ในนั้นประกอบไปด้วยราคาของน้ำเปล่า 9.3 บาท และอีก 0.7 บาท ที่เหลือนับเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะถูกจัดส่งโดยบริษัทที่ขายสินค้าและบริการที่มีรายได้มากกว่า 1,800,000 บาท และมีการจดทะเบียนกับกรมสรรพากรอย่างถูกต้อง มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการขายสินค้าและบริการ

ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

สำหรับบริษัทที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาท จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) บริษัทจะต้องทำหน้าที่ในการส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากร นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเราสามารถนำภาษีที่ได้จากการขายสินค้าและบริการ (ภาษีขาย) มาหักลบกับภาษีที่เราจ่ายให้กับต้นการทางผลิต (ภาษีซื้อ) ในกรณีที่ ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้เราจัดส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร แต่ในกรณีที่ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เราสามารถขอคืนได้

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีดังต่อไปนี้

  • - การธนาคาร ตามกฎหมายธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจเฉพาะ
  • - การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมาย การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • - การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายการประกันชีวิต
  • - การรับจำนำ ตามกฎหมายโรงรับจำนำ
  • - การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การค้ำประกัน การแลกเปลี่ยนเงินตรา
  • - การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ตาม
กิจการอัตราภาษี
กิจการธนาคาร,ธุรกิจเงินทุน 3%
กิจการรับประกันชีวิต2.5%
กิจการโรงรับจำนำ2.5%
การค้าอสังหาริมทรัพย์0.1%
การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์0.1%
ธุรกิจแฟ็กเตอริง3%

ภาษีการรับมรดก

ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับมรดกเป็น

ทรัพย์สินที่ต้องมีการเสียภาษีมรดก มีดังต่อไปนี้

  • - อสังหาริมทรัพย์
  • - หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • - เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย
  • - ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
  • - ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

อากรแสตมป์

อากรแสตมป์ เป็นภาษีในรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐจัดเก็บจากการกระทำตราสาร(เอกสารแสดงสิทธิ์ต่างๆ) หรือ ทำสัญญา จะเกิดขึ้นเมื่อกระทำตราสารหรือสัญญานั้นเสร็จสมบูรณ์ คือ การลงลายมือชื่อคู่สัญญา ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อากรแสตมป์สามารถซื้อได้ที่กรมสรรพากร

การไม่เสียอากร ไม่ได้ทำให้ตราสารนั้นไร้ผลทางกฎหมาย แต่มีผลทำให้ตราสารหรือตราสารนั้นใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ *อากรแสตมป์ไม่ใช่ดวงตราไปรษณียากร ไม่สามารถนำไปใช้ปิดซองจดหมายได้

ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ มีดังต่อไปนี้

  • - สัญญาจ้างทำของ
  • - สัญญากู้ยืมเงิน
  • - สัญญาค้ำประกัน
  • - สัญญาเช่าที่ดิน
  • - สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement)
  • - สัญญาร่วมลงทุน (Joint-venture Agreement)
  • - ตราสารหรือสัญญาที่ทำในประเทศไทย
  • - ตราสารหรือสัญญาที่ทำในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาในประเทศไทย (ต้องเสียอากรภายใน 30 วัน)

ภาษีอื่น ๆ

ภาษีอื่น ๆ นั้นมีอีกมากมาย แยกตามประเภทได้ เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์จัดอยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งจะต้องมีการต่อภาษีในทุก ๆ ปี โดยจะต้องต่อ พ.ร.บ. ภาคบังคับก่อน ถึงจะสามารถต่อภาษีได้ เพื่อให้สามารถใช้ทะเบียนรถในการสัญจรแบบท้องถนนได้ และได้รับความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมาย

การขาดภาษี 3 ปีขึ้นไป ป้ายทะเบียนนั้นจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ ภาษีรถยนต์นั้นจะคำนวณจากขนาดของกระบอกสูบ ยิ่งมีซีซีมากก็จะยิ่งเสียภาษีมาก ในทางกลับกันเมื่ออายุของรถมีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปก็จะได้รับการลดหย่อน จนถึงปีที่ 10 ที่มีการลดหย่อนสูงสุดร้อยละ 50 ของภาษีรถยนต์ อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ภาษีที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์อื่นๆ ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร จัดอยู่ในหมวดของภาษีที่ดิน ที่บุคคลธรรมดานั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีใน 50 ล้านบาทแรก สำหรับใครที่อยากอ่านเรื่องภาษีที่ดินเพิ่มเติม แนะนำให้อ่านของ Money Buffalo ได้ที่นี่

ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น ภาษีความหวาน และภาษีความเค็มจัดอยู่ในหมวดหมู่ภาษีเพื่อสุขภาพ

ปริมาณน้ำตาล / ลิตรอัตราภาษี (บาท)
0 - 6 กรัม 0
6 - 8 กรัม0.1
8 - 10 กรัม0.3
10 - 14 กรัม1
14 - 18 กรัม3
18 กรัม ขึ้นไป5

เราจะเห็นได้ว่าคนไทยมีความพยายามมากมาย ในการทำให้ภาษีประเภทอื่น ๆ ถูกใช้จ่ายน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เป็นที่ดินการเกษตร หรือเมื่อไม่นานมานี้ ที่มีผู้ใช้ Facebook รายนึงได้ชี้แจงว่า ทำไมน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งถึงได้ บรรจุ น้ำอัดลมในปริมาณ 999 ML สาเหตุก็เป็นเพราะอัตราการเสียภาษีนั้นถูกกว่า ขายแบบ 1,000 ML

สัดส่วนผู้เสียภาษีเงินได้ และผู้ยื่นแบบภาษี

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนภาษีที่สรรพากรเก็บได้ในปี 2566 จะเห็นได้ว่าเงินส่วนมากที่ได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เสียภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล และภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดาที่มีการเสียภาษีในอัตราที่สูงมากเช่นกัน คิดดูว่ามีคนยื่นภาษีเงินได้ปีละ 11 ล้านคน แต่มีคนที่จ่ายภาษีในส่วนนี้เพียง 6 ล้านคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศไทย 70 ล้านคน

ยิ่งมีรายได้เยอะ ก็จะยิ่งมีโอกาสที่รายจ่ายเยอะด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่บ่อย ๆ ครั้งที่พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ แบบเป็นรูปธรรมจากภาษีที่จ่ายไปเลย อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า ระบบภาษีนั้นเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนทั้งประเทศ แต่การที่คนจ่ายภาษีเพียง 6 ล้านคน ต้องมาจ่ายภาษีซ้ำซ้อนแบบนี้การที่พวกเขาจะออกมาแสดงความคิดเห็นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่ก็มีคนจำนวนมากในประเทศที่ไม่ได้ทำการยื่นภาษีเข้าระบบอย่างถูกต้อง แต่เวลาได้รับผลประโยชน์พวกเขามักจะได้รับมากกว่าคนที่เสียภาษี ทั้งนี้มันจึงควรเป็นเรื่องที่จริงจังได้แล้ว ว่าถ้าอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ก็ควรจะไม่ต้องลดเว้นการยื่นแบบสำหรับผู้รายได้ไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี เมื่อเราใช้ภาษีร่วมกันเราก็ควรจะต้องยื่นแบบเหมือนกันทุกคนด้วย คนที่ไม่เคยยื่นก็ควรจะเข้าใจความรู้สึกตอนโดนขอเอกสารเพื่อตรวจสอบ และการตรวจสอบทุกโปร่งใสที่สุดก็คือต้องตรวจสอบทุกคน

เมื่อมีคนยื่นแบบภาษีเงินได้ในจำนวนที่มากขึ้น แน่นอนว่าเราอาจจะได้รับผลการยื่นภาษีช้าลง หรือแม้กระทั่งเงินคืนที่ช้าลงกว่าปกติ แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถยอมรับได้ แต่อาจจะต้องไม่ใช่การสุ่มตรวจแบบที่ผ่านมา จะต้องมีการตรวจสอบแบบจริงจังโดยสรรพากร เพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดความเท่าเทียมกันทุกคนในประเทศ

สรุปเนื้อหา

ภาษีเป็นรูปแบบการเก็บเงินของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม โดยประชาชนมีหน้าที่เป็นผู้เสียภาษีตามกฎหมาย ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องภาษีให้ถูกต้อง หากเราเสียภาษีผิดประเภท ก็จะมีทั้งค่าปรับ และดอกเบี้ยของภาษีที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติมในภายหลังด้วย

ภาษีแต่ละรูปแบบมีวิธีการคิดคำนวณที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อีกทั้งภาษีบางประเภทจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราดำเนินการธุรกิจที่เข้ากับเงื่อนไขของการชำระภาษี

สำหรับบุคคลธรรมดานั้นยังพอที่จะคำนวณภาษีเองได้ ปรึกษากับพนักงานบัญชีประจำบัญชี และสามารถปรึกษากับพนักงานของกรมสรรพากรได้ แต่ในกรณีที่เป็นภาษีนิติบุคคล และภาษีเกี่ยวกับธุรกิจ ควรจะต้องจ้างนักบัญชีเพื่อตรวจสอบบัญชี และทำเอกสารสำหรับยื่นภาษี โดยเฉพาะบริษัทที่มีการจด Vat นั่นก็ค่าปรับที่สูงทำให้เราอาจะเสียโอกาสในการนำเงินไปพัฒนาธุรกิจ

นอกจากนี้อย่าลืมว่าภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ในประเทศที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ การเสียภาษีให้ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรจะทำ แน่นอนว่าการเสียภาษีไม่ได้ทำให้เราดูเท่ขึ้น หรือดูมีเงินมากขึ้นในสายตาคนอื่น แต่อย่างน้อยการเสียภาษีของเราจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้สรรพากรมาจุกจิกกับเรา สำหรับคนที่ไม่ได้เสียภาษีถูกต้อง หากสรรพากรสุ่มตรวจเจอ หรือมีคนแจ้งการหลบเลี่ยงภาษีก็จะโดนโทษไม่น้อย แค่ค่าปรับภาษีก็ทำให้คุณเปลี่ยนสถานะจากรวยเป็นจนได้ในไม่กี่พริบตา

หากคุณพบเบาะแสของการหลีกเลี่ยงภาษีสามารถแจ้งได้ที่เว็บไซต์ของสรรพากร ได้ที่นี่

No reviews yet. Be the first to leave a comment!

Share your experience with this Blog

0 Reviews