Image Description
Soranat Chamkring
  • 18 Jan 2025
  • 10 mins read

การผ่อนรถที่ไม่ได้มีแค่ค่างวด

การผ่อนรถที่ไม่ได้มีแค่ค่างวด

วันนี้ผมจะมาแนะนำบทความที่มีประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนที่กำลังจะพิจารณาซื้อรถยนต์มาแนะนำ หลังจากที่ผมได้ผ่อนรถหมดเรียบร้อยแล้ว เผื่อจะมีใครนำวิธีการนี้ไปใช้ ในหลายๆ ขั้นตอน หรืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเงินในช่วงเวลาขณะนั้น

เลือกรถที่เหมาะกับเรา

ก่อนที่เราจะไปดูว่าเราจะสามารถผ่อนรถได้ยังไงบ้าง สิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือ เราจำเป็นต้องใช้รถจริง ๆ หรือไม่ ที่ต้องย้ำข้อนี้เพราะบางครั้งเราอาจจะคิดว่าเรามีรถแล้วสบายกว่า บางครั้งมันอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป การมีรถจะทำให้เราต้องมีภาระอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ถ้าหากพิจารณาแล้วว่าเราจำเป็นต้องมีรถจริงๆ ก็มาดูวิธีการเลือกรถที่เหมาะกับเรา

ทำไมเราต้องเลือกรถที่เหมาะกับการใช้งาน ? เหตุผลนี้ตอบได้ง่ายมาก เพราะว่าเราทุกคนไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่เดียวกัน ไม่ได้ใช้รถในจำนวนที่เท่ากันทุกคน บางคนใช้น้อย บางคนใช้มาก บางคนใช้เดินทางไกล บางคนใช้เดินทางในเมือง นี่คือความแตกต่าง เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาครับ

วัตถุประสงค์ประเภทรถขนาดรถอัตราเชื้อเพลิงที่แนะนำ
เดินทางในเมือง จำนวนไม่เกิน 2 คนรถไฟฟ้า / hybridB Segment20 km / L +
เดินทางจำนวนหลายคน ใช้เน้นใช้งานหลายสถานการณ์รถสันดาป / hybridSUV , PPV10 - 15 km / L
เดินทางไกล จำนวนคนไม่เกิน 5 ที่นั่ง เน้นสบายรถไฟฟ้า / hybridD Segment18 - 20 km / L

รถที่เหมาะกับการเดินทางในเมือง ในยุคสมัยนี้อาจจะเริ่มต้องด้วยการมองรถขนาด B Segment หรือรถขนาดเล็ก ที่อาจจะมีระบบไฮบริด หรือระบบไฟฟ้า เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง อย่างที่เรารู้กันดีกว่ากรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 ของเมืองที่รถติดมากที่สุดมาหลายปีซ้อน รวมถึงการจอดรถในเมืองบางพื้นที่มีช่องจอดขนาดเล็ก รถขนาดเล็กจะจอดได้ง่าย และคล่องตัวมากกว่า

รถที่เหมาะกับการเดินทางหลายคน อาจจะเป็นรถประเภท Cross-Over , SUV และ PPV ไล่ตามขนาดจากเล็กไปใหญ่ โดยรถประเภทนี้จะมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงที่สูงกว่า B Segment อยู่แล้ว เนื่องจากน้ำหนักของรถ และขนาดของเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า แต่ข้อดีก็คือรถประเภทนี้สามารถเดินทางได้หลายคน ไม่อึดอัดเท่ารถ B segment

รถที่เหมาะกับการเดินทางไกล และมีคนจำนวนไม่มาก รถประเภท C Segment , D Segment เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับรถประเภทนี้ เนื่องจากมีห้องโดยสารที่กว้างกว่า และมีเครื่องยนต์ที่ดีกว่ารถยนต์ B segment และสามารถขับได้ดีกว่าในหลาย ๆ สถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ทางขึ้นเขา ทางรถเขา การขับทางไกลโดยเติมน้ำมันน้อยกว่ารถ B segment รวมถึงอัตราเร่งในยามขับคัน อย่างไรก็ตามรถประเภทนี้จะตามมาด้วยค่าบำรุงรักษาที่มากกว่ารถประเภทอื่น ๆ เมื่อเทียบจากแบรนด์เดียวกัน

การวางแผนการเงิน

การวางแผนทางการเงินภาพรวมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ได้จ่ายเงินค่าผ่อนรถยนต์เพียงอย่างเดียว จริง ๆ แล้วเราต้องวางแผนการเงินส่วนตัวให้รอดก่อน โดยปกติเราควรจะภาระหนี้ไม่เกิน 40 % ของรายได้ ส่วนอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตส่วนบุคคล แต่มักจะถูกกำหนดด้วยกรอบของรายได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้ไม่มากแต่ก็มีขั้นต่ำในการดำเนินชีวิตเท่ากัน อาจจะมีเงินที่เหลือน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่าแน่นอน ที่สำคัญคือในแต่ละเดือนเราควรมีเงินออมอย่างน้อย 10-15% และเงินลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่จัดสรรเรียบร้อย เพื่อระเบียบวินัยทางการเงินของเราจะได้ดีขึ้นครับ

หากใครยังไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ผมขอแนะนำคลิปนี้เลย เรื่องเงินที่รู้ไว้แล้วน่าจะดีกับชีวิต (มั้ง)

คู่มือการเงินแบบเบสิกสุด โดย 9arm
Caption : คู่มือการเงินแบบเบสิกสุด โดย 9arm

รายได้ ≠ เงินคงเหลือ

สิ่งที่อยากให้จำก่อนเริ่มแยกค่าใช้จ่ายคือ รายได้ของเรา ไม่เหมือนกับเงินคงเหลือ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีรายได้ 40,000 บาท แต่พอหักค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการใช้ชีวิต อาจจะเหลือ 30,000 บาท และเราจะต้องเอาเงินก้อนที่เหลือ จาก 30,000 บาท มาหักกับภาระหนี้ก่อน ซึ่งจุดนี้เราจะพอเห็นว่าเราจะสามารถผ่อนรถได้เดือนละเท่าไหร่ เมื่อคิดว่าเราไม่มีภาระหนี้อื่นๆ เลย เราจะสามารถผ่อนรถได้สูงสุดที่ 12,000 บาท / เดือน โดยประมาณ และอาจจะเหลือเงินติดบัญชีนิดหน่อย แต่ก็ดีกว่าติดลบครับ

ถ้ายอดผ่อนหรือราคารถสูงกว่านั้น เรามีทางเลือก 2 ทาง คือหารถที่ราคาถูกลงจากเดือน เพื่อให้ได้ยอดผ่อนต่อเดือนใกล้กับความสามารถในการชำระหนี้ หรือ เราจะหาเงินเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ลำบากในขณะที่กำลังผ่อนรถอยู่

กรณีที่เรายังมีภาระหนี้อื่น ๆ เช่น สินเชื่อ กยศ. หรือบัตรเครดิต ให้เราคำนวณดูค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่จะไม่เกินค่าใช้จ่ายหลังหักจาก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และการผ่อนสินทรัพย์ที่กำลังดำเนินการ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด โดยที่ไม่มีเงินชำระเพียงพอ หรือต้องชำระขั้นต่ำ อันนี้จะทำให้เกิดปัญหาเงินหมุน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ซึ่งโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธ์ เจอปัญหานี้บ่อยๆ ตอนที่นั่งตอบคำถามใน The money coach และผมก็เห็นด้วยว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังในจุดนี้ อนาคตมันจะตามมาสร้างปัญหาให้กับแผนการเงินของเราได้แน่ ๆ

วิธีการออกรถแบบรอบคอบ

หลังจากศึกษารุ่นรถและวางแผนการเงินเรียบร้อยแล้วเราจะได้รุ่นรถกับความสามารถในการชำระหนี้ต่อเดือน ให้เราใช้เวลาสัก 3 - 4 เดือน ในการเลือกรถที่ถูกใจเรา อาจจะเป็นรถมือ 1 หรือ มือ 2 แล้วแต่ความสะดวก หากจะเลือกรถมือสอง ควรมีความรู้เรื่องรถ และพาช่างที่ไว้ใจได้ไปด้วย เลือกหลาย ๆที่ครับ เอาที่เราได้ประโยชน์จากโปรโมชั่น ของแถม ฯลฯ มากที่สุดและเราจำเป็นต้องใช้ ลองชั่งน้ำหนักดูครับ ระหว่างที่หารถก็ให้เราเก็บเงินระหว่างทางไปด้วย

ข้อสำคัญในการออกรถคือให้คุยรายละเอียดที่สำคัญให้ครบทั้งหมด เช่น ขั้นตอนการโอน ค่าโอนจะรับผิดชอบกันยังไง เล่มทะเบียนหลังจากผ่อนแล้วจะทำยังไง กุญแจรถจะต้องอยู่กับเราทั้งหมด เงื่อนไขประกันที่จะต้องต่อเมื่อขอสินเชื่อ ฯลฯ และเก็บทุกอย่างในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรครับ จำไว้ว่าตราบใดที่เงินยังไม่ออกจากมือเรา เรายังได้เปรียบครับ ต้องถามทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเราเองให้หมด รักษาสิทธิ์ครับ

เมื่อได้รถที่ต้องการแล้วให้เราสอบถามเรื่องสินเชื่อรถกับผู้ขายว่าเราสามารถยื่นกู้กับธนาคาร/ ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ ใดได้บ้าง บางสำนักงานอาจจะให้มาแค่ 2-3 แห่ง ก็ลองถามเรื่องดอกเบี้ย ค่างวดและออฟชั่นพิเศษอื่นก่อนครับ จริงๆ แล้ว เราสามารถขอสินเชื่อกับธนาคาร/ ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ ที่เราต้องการเองได้นะ แต่จะมีความซับซ้อนและใช้ระยะเวลานานกว่าธนาคาร/ ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ ที่สำนักงานดีลเอาไว้แล้ว ส่วนมากผมจะเน้นธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยสุด

ก่อนจะออกรถสัก 6 - 9 เดือน ให้เราทำรายการเดินบัญชีของเราให้ดี จัดการสถานะบัญชีให้ดี เพราะผู้บริการเงินจะยื่นเอกสารขอตรวจสอบแน่ ๆ ถ้าเราทำไว้ดี นอกจากจะผ่านแบบคลีน ๆ แล้ว ยังได้ดอกเบี้ยต่ำอีกด้วย

การแยกภาระหนี้ ออกจาก ค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ

สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการแยกภาระหนี้ออกจาก การวางแผนการเงิน ผมขอเขียนเฉพาะประสบการณ์ของผมในการผ่อนรถครั้งนี้ เท่านั้น แน่นอนว่าความพร้อมแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมีเงินสำรองในแต่ละส่วนมากกว่าที่ผมกำหนดไว้ นั่นก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ผมก็เห็นคนที่มีเงินสำรองในแต่ละส่วนน้อยกว่าที่ผมเก็บไว้ ก็สามารถผ่อนชำระรถได้หมดแบบไม่มีปัญหาได้หลายคน แผนการเงินอันนี้จึงเป็นเพียงแค่แนวทางเท่านั้นครับ แต่อย่างที่ทุกคนทราบ การผ่อนรถ ไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนรถเท่านั้นที่เราจะต้องจ่ายครับ

1. เก็บเงินให้ได้เท่ากับยอดดาวน์ 20 - 40 % ของราคารถ และวางแผนการผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี หรือ 48 งวด เนื่องจากดอกเบี้ยในการผ่อนรถเป็นแบบคงที่ ไม่ใช่แบบเดียวกับการผ่อนบ้านที่เราสามารถโป๊ะเงินหรือเพื่อลดเงินต้นได้ และการดาวน์ในวงเงินที่น้อยเกินไปจะทำให้เราเสียดอกเบี้ยในจำนวนที่มากขึ้น

2. เก็บเงินเพิ่มก่อนผ่อนชำระจริง เผื่อไว้ 6 งวด เพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉิน ( ไม่เกี่ยวกับเงินออมส่วนบุคคล ) บางทีอาจจะมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ทำให้เราจำเป็นต้องนำเงินก้อนนี้มาใช้ ซึ่งน่าอัศจรรย์ที่ผมต้องใช้มันจริงๆ แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด และเงินส่วนนี้เมื่อมีเงินให้นำมาเติมจนกว่าจะถึง 6 งวดสุดท้าย

3. เงินสำหรับค่าบำรุงรักษารถยนต์ * ปีละ 30,000 บาท ปีไหนเหลือให้เก็บไว้สมทบปีต่อไป เอาจริงๆ ใช้ไม่เคยถึงสักปี เพราะมันไม่เคยมีปัญหาพร้อม ๆ กัน ถ้าเราหมั่นตรวจเช็ครถบ่อย ๆ เราสามารถทยอยทำตามความจำเป็นได้ ค่าใช้จ่ายในหมวดนี้จะประกอบไปด้วย

  • ค่าเปลี่ยนถ่ายของเหลว เปลี่ยนถ่ายทุก 10,000 กิโลเมตร หรือ 6 เดือน
  • ค่ายางรถยนต์ 4 ล้อ เปลี่ยนทุก ๆ 40,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี
  • ค่าฟิล์มกันแดดรถยนต์ เปลี่ยนทุก ๆ 4 ปี หรือเมื่อสังเกตว่าฟิล์มหมดสภาพแล้ว
  • ค่าบำรุงรักษาระบบขับส่งกำลัง และระบบเบรค ควรเช็กทุก 6 เดือน
  • ค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ เช่น ที่ปัดน้ำฝน กิ๊ฟ และอุปกรณ์ส่วนควบที่หมดสภาพ ขึ้นอยู่กับการสังเกตรถตัวเอง
  • 4. เงินสำหรับค่า ภาษี พรบ. และประกันภาคสมัครใจ

  • ภาษี และพรบ. เป็นสิ่งที่บังคับอยู่ในข้อกฏหมาย เราจำเป็นจะต้องทำครับ สองอย่างนี้รวมกันใช้เงินไม่ถึง 3,000 บาท ต่อปี
  • ประกันรถยนต์ผมทำอยู่ที่ปีละไม่เกิน 15,000 บาท อาจจะน้อยกว่านั้นถ้าคุณเลือกประกันชั้น 2 , 2+ หรือชั้น 3 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติการเคลมของคุณด้วย ซึ่งประกันภาคสมัครใจนั้นเราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ครับ แต่ให้นึกว่าไว้อย่างนึกเกี่ยวกับเรื่องประกันครับ เวลาที่เราอยากใช้แล้วไม่มี ตอนนั้นแหละที่เราจะคิดถึงมัน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการเคลม เรื่องการตามเอกสาร คดีความ ฯลฯ มันก็ส่งผลให้เราเสียเวลามากกว่าที่ควรจะเป็นครับ ผมเองก็เคยมีเคสที่เจอปัญหาบนท้องถนนอยู่พักนึง โชคดีที่ตอนนั้นมีประกัน เราเลยสบายครับ
  • 5. เงินสำหรับค่าเดินทาง เชื้อเพลิง* ขั้นต่ำเดือนละ 5,000 บาท ถ้าเหลือเดือนไหน ให้นำมาสมทบเดือนต่อไป เพื่อเป็นการจำกัดงบการเงินตัวเอง ไม่ให้เดินทางไปไหนมาไหนตามใจชอบ ส่วนใครจะใช้ค่าเชื้อเพลิงน้อยกว่านี้ก็สามารถทำได้ครับ ขึ้นอยู่กับลักษณะในการใช้รถด้วย ผมใช้รถแทบจะทุกวันที่ไปทำงาน วันนึงเดินทางประมาณ 50 กิโลเมตรไปกลับ ก็ตีเผื่อไว้กลมๆ ว่าใช้เงิน 5,000 บาทต่อเดือนกับส่วนนี้ครับ

    6. เงินสำหรับค่าเดินทาง ด้วยทางพิเศษ เดือนละ 1,000 บาท (ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าขึ้นบ่อยครับ เพราะมันแพง! และบางทีขึ้นไปก็อาจจะเร็วกว่าขับทางปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ควรมีติดรถไว้)

    7. ค่าที่จอดรถ (ถ้ามี) ผมเสียค่าที่จอดรถโดยเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือนครับ เราอาจจะเลือกที่จอดที่ปลอดภัย อยู่ในร่ม หรืออยู่ตึกสำนักงานที่เรากำลังทำงานอยู่เพื่อความสะดวกสบาย หรือจะตัดบางตัวเลือกเพื่อให้ได้ค่าจอดรถที่เหมาะสมกับการเงินเราได้ครับ และยังเป็นการประหยัดไปในตัวอีก

    *หัวข้อนี้จะสอดคล้องกับประเภทรถ และรุ่นของรถยนต์ที่อาจจะมีค่าบำรุงรักษาที่แตกต่างกันออกไปครับ รถบางรุ่นอาจจะมีการบริโภคเชื้อเพลิงที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการคำนวณค่าเบี้ยประกันด้วย

    คำแนะนำเพิ่มเติม

    อันนี้เป็นหัวข้อที่ผมคิดว่าเราควรจะต้องพูดกันเพื่อเป็นคำแนะนำที่ดีกับผู้อ่านต่อๆ ไป

    1. เราควรเลือกรถ hybrid มากกว่าที่จะเป็นรถสันดาป (ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพียงอย่างเดียว) เพราะปัจจุบันผมมองว่ารถ hybrid มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงน้อยลง และตอบโจทย์ในการเดินทางไกลมากกว่ารถ ev ด้วยปัจจัยทางด้านสถานีให้บริการ และค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ต่างกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

    2. การเลือกสถานีซ่อมบำรุง สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องรถมากเท่าไร อย่างน้อยเข้าศูนย์บริการมาตรฐานอย่าง BQuik , Cockpit ,Fit Auto ช่วยคุณได้ระดับนึง แต่ก็ควรจะศึกษาปัญหาเรื่องรถ หรือถามปัญหาในกลุ่ม Facebook บ้างจะได้ไม่โดนหลอก หรือโดนฟันค่าซ่อมบำรุง บางทีอาจจะได้อู่ซ่อมรถที่แนะนำได้ครับ

    3. ตอนผ่อนรถ แนะนำให้ลด ละ เลิก ความอยากได้ ( Want ) ที่ไม่จำเป็นจริง ออกจากชีวิตไปก่อนครับ ให้ตระหนักว่าเรามีภาระหนี้อยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องไปเครียดกับมันมาก สำหรับผมคือเงินเดือนออก ตัดจ่าย แล้วไม่ดูมันอีกเลย ผมเพิ่งมาดูอีกทีตอนผ่อนใกล้จะหมดเอง (ตอนเหลือ 6 เดือน) ชีวิตผมเป็นสุขมากกว่าการมานั่งดูยอดคงเหลือทุกเดือนอีกครับ

    4. สินเชื่อรถเป็นแบบคงที่ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องโป๊ะครับ ให้จ่ายตามยอดสม่ำเสมอไปดีกว่า แล้วเอาเงินไปโป๊ะกับภาระหนี้อื่น ๆ ที่ลดต้นลดดอกได้ เช่น ดอกเบี้ยบ้าน หรือใช้ในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า ถ้าไม่ใช้ก็เก็บไว้เป็นเงินสำรอง

    สุดท้ายจริงๆ ผมอยากบอกว่า อดทนไว้ 4 ปี แปปเดียว !

    No reviews yet. Be the first to leave a comment!

    Share your experience with this Blog

    0 Reviews