เมื่อ 2-3 วันก่อนผมได้ฟังไลฟ์เกี่ยวกับ Cookieless ของนายอาร์มผ่านทางยูทูป เนื่องจากมีเวลาในไลฟ์ค่อนข้างน้อยทำให้ไม่สามารถเล่าได้ละเอียดมาก เพราะบางเรื่องก็ใช้ความรู้เฉพาะทางในการอธิบายค่อนข้างสูง ยังไม่รวมสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้การใช้คุกกี้นั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย ผมจึงไปเรียบเรียงเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบไว้ในบทความนี้ เรามาเริ่มกันเลย ไป
Cookieless คือนโยบายของ Google ที่ประกาศไว้ตั้งแต่กลางปี 2023 ที่จะปรับปรุง Browser Google Chrome ให้มีการจำกัดการใช้งาน Third Party Cookie ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับแพลตฟอร์ม ที่ใช้คุกกี้ประเภทนี้การทำโฆษณา โดยได้เริ่มทยอยทดลองกับผู้ใช้บางกลุ่มไปแล้ว และจะมีการเริ่มใช้งานกับบุคคลทั่วไปใน Q2 ของปี 2024
จริงๆ แล้วการป้องกันผู้ใช้งานจาก Third party Cookie นั้นเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผู้ใช้งานเบราเซอร์ไม่จำเป็นจะต้องเห็นโฆษณาที่ถูก Targeted มาที่ตนเอง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Google เองก็ไม่ได้เก็บข้อมูล เพราะอย่าลืมว่า Google Chrome เองก็เป็น Browser ที่ครอง Market share 64 % ของผู้ใช้งานทั้งหมด และเขาสามารถติดตามเราได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คุกกี้ด้วยซ้ำ
จุดเริ่มต้นของ Cookieless นั้นจริงๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่ Browser War ด้วยซ้ำ หากใครยังไม่เคยฟังสงคราม Browser สามารถไปติดตามฟังได้ที่ช่อง 9arm ที่มีการแข่งขันกัน ครองส่วนแบ่งการตลาดของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเบราเซอร์ จนกระทั่งมาถึงยุคที่มีการทำโฆษณาในปัจจุบัน
ยิ่งมีการใช้งานเบราเซอร์มากขึ้นเท่าไร ก็แปลว่าผู้ให้บริการจะถือข้อมูลผู้ใช้บริการได้มาก และสามารถนำไปต่อยอดได้ในหลาย ๆ เรื่อง การโฆษณาก็เป็นหนึ่งในนั้น เราจะสังเกตได้ว่า ช่วง 5 ปีหลัง มีการขัดแข้งขัดขากันค่อนข้างถี่ ระหว่างผู้ให้บริการเบราเซอร์ , ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการณ์ และผู้ทำการตลาดแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนนึงก็เป็นเรื่องข้อกำกับด้านกฎหมาย อีกส่วนก็เป็นเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับด้านข้อมูล
Cookie คือข้อมูลชุดเล็ก ๆ ที่ถูกบันทึกอยู่ในเบราเซอร์ โดยมีความสามารถในการจดจำผู้ใช้งาน และสามารถบันทึกพฤติกรรมผู้ใช้งานเมื่อเข้ามาที่เว็บไซต์ได้ คุณสามารถอ่านเรื่องคุกกี้เพิ่มเติมได้ ที่ ความแตกต่างของ Cookie ,Session Storage และ Local Storage
บทความนี้คุณไม่จำเป็นจะต้องเขียนโค้ดได้ แค่แยกประเภทของ Cookie ได้ก็พอ หลักๆ เราจะพูดถึงแค่ First Party Cookie เป็น Same-site Cookie ของเว็บเรา กับ Third Party Cookie เป็น Cross-site Cookie ของแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มาฝาก Snippet ไว้บนเว็บเราเพื่อเอาข้อมูลไปทำโฆษณา เท่านั้น Cookie นั้นเป็นเพียง text file ขนาดเล็กที่มีความสำคัญมหาศาล ในช่วงปี 2016 ขึ้นไปมีการใช้งานกันเยอะมาก และยังใช้กันจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ใช้งานแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์เท่านั้น
แน่นอนว่า หากคุกกี้สามารถใช้ในการจดจำผู้ใช้งานได้ นักพัฒนาจึงสามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานดำเนินการบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นได้ จุดเริ่มเรื่องตรงนี้เกิดขึ้นหลังจาก Google เข้าซื้อ Firebase เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลเบื้องหลังของแอพพลิเคชั่น และได้มีการเพิ่มเติมส่วนที่เรียกว่า Analytics ซึ่งเป็นส่วนที่ยังคงมีการใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าระบบของ Firebase ตอนแรกจะถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนา การจัดการเฉพาะส่วนแอพพลิเคชั่น แต่ก็ยังมีการนำรูปแบบการเก็บข้อมูลบนแอพพลิเคชั่น มาประยุกต์ใช้กับการเก็บข้อมูลผ่านเว็บไซต์โดยการใช้คุ้กกี้ในการยืนยันตัวตนแทน Device ID ของแอพพลิเคชั่น
นอกจาก Google แล้วก็ยังมีหลายๆ แพลตฟอร์มที่ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจด้านข้อมูล เช่น Adobe Analytics และ Tealnium ที่นับว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่เริ่มใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยอาศัย First Party Data ผ่านการฝังชุดคำสั่ง Javascript Snippet ลงบนเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานได้
เมื่อมีการเก็บข้อมูล Google จึงได้พัฒนา Tools ตัวนึงขึ้นมา เพื่อตอบสนองการเก็บข้อมูลที่ง่ายขึ้น และพึ่งพานักพัฒนา (Software Developer) น้อยลง เนื่องจากการ Deploy เว็บไซต์บางครั้งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งการทดสอบ และการตั้งค่าหลาย ๆ อย่าง Google Tag Manager จึงเป็นทางเลือกสำหรับนักการตลาด ที่ต้องการติด Tracking บนเว็บไซต์แบบง่าย ๆ เกิน 80 % สามารถใช้ Built-in ที่มีอยู่ใน Google Tag Manager ได้เลย โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
การทำงานของ Google Tag Manager คือการนำ Javascript Snippet เพียงตัวเดียวไปติดบนเว็บไซต์ในทุกหน้า หลังจากนั้นเราก็สามารถนำ Script ของ Analytics Tools ตัวอื่นๆ มาแปะบน Google Tag Manager ได้อีกที ยิ่งถ้าใครมีความรู้เรื่อง Javascript ติดปลายนวมมาบ้าง จะสามารถทำอะไรกับเว็บไซต์ก็ได้ (เฉพาะคำสั่งในฝั่ง Client side เท่านั้น) ที่สำคัญคือ Google Tag Manager นั้นถูกพัฒนาในมุมมองของ Developer มีทั้ง Enviroment Variable , Version Control etc. แต่ให้ Marketing ใช้!
หลายปีถัดมาก็ต้องมีการเปิดตัว Marketing Platform ที่สามารถทำการโฆษณาได้ เช่น Facebook แน่นอนว่าการทำโฆษณานั้น Facebook เองก็ต้องการที่จะรู้ข้อมูลผู้ใช้งานด้วย แต่จะทำยังไงละเมื่อ Facebook ดันไม่ใช่เจ้าของเว็บไซต์ และข้อมูลที่ Facebook ต้องการรับรู้คือเวลาลูกค้ากดโฆษณาไปแล้วซื้อของในเว็บไซต์จริงๆ หรือเปล่า ง่ายๆ ก็คือต้องการทราบจำนวน Conversion ของเว็บเรานั่นแหละ
แต่เรื่องมันดันไม่จบแค่รู้ว่าซื้อหรือเปล่าเท่านั้นนะ Facebook ยังมีการแบ่งกลุ่มคน ออกตามพฤติกรรม และประเภทความสนใจอีก แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการแสดงผลโฆษณาให้ผู้ใช้งาน กลุ่มเป้าหมายของ Facebook นั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการยิงโฆษณา และสามารถแบ่งคนออกเป็น Segment ต่างๆ ได้จากการซื้อสินค้าแต่ละประเภทที่ได้รับการโปรโมทบน Facebook
ทีนี้มีคำถามอีกว่า แล้ว Facebook รู้ได้ยังไงว่าคนที่ซื้อเป็นใครใน Facebook ผมจะตอบคำถามในหัวข้อต่อไป เรื่อง Third Party Cookie
การระบุตัวตนด้วย Third Party Cookies มีมาก่อนที่ Facebook จะเริ่มสร้าง Facebook Pixel ด้วยซ้ำ หลักการคือทางแพลตฟอร์มต้นทางจะมีการสร้าง Pixel ID ขึ้่นมาตัวหนึ่งต่อ 1 เว็บไซต์ / แต่ก็ยังมีการนำรูปแบบการเก็บข้อมูลบนแอพพลิเคชั่น พร้อมกับ Javascript Snippet Code 1 ชุด ตัวสคริปต์หน้าตามันจะคล้าย ๆ กันหมดแทบทุกแพลตฟอร์ม แต่มันจะมีเพียง Pixel ID และ Event Name เท่านั้นที่จะไม่เหมือนกัน โดยแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน
Pixel ID ทำหน้าที่ในการบอกเว็บไซต์ให้ส่งข้อมูลไปยัง Data Source ที่ถูกกำหนดไว้ ส่วน Event Name เอาไว้บอกว่า ผู้ใช้งานทำพฤติกรรมอะไร และเราสามารถนำ Event Name ชุดนั้น มาใช้ในการ Optimize Ad ที่รันอยู่ได้ Facebook เองก็ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้โฆษณาเพื่อแสดงผลกับคนที่จะมีโอกาสซื้อมากที่สุด ฟังดูก็วินๆ ใช่ไหมครับ แต่ในแง่ของแพลตฟอร์มนับวันจะยิ่งมีข้อมูลเยอะขึ้น เพราะคนซื้อโฆษณาเอาข้อมูลไปเสิร์ฟให้ผ่าน Pixel ถึงที่ Facebook ไม่ต้องทำไรมาก แค่กระดิกนิ้วรับเงินรัว ๆ Passive Income ใคร ๆ ก็ชอบครับ
ทีนี้ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละ ตอนแรก Facebook ก็ง้อให้คนมายิงโฆษณา เรียกว่าแทบอ้อนวอนเลยในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งถึงตอนที่มีข้อมูลในระดับที่ใช้งานได้ คนที่ซื้อโฆษณาเนี่ยแหละถึงรู้ว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เพราะเมื่อเราต้องการซื้อโฆษณาในกลุ่มเป้าหมายที่มีความคล้ายเคียงกับคู่แข่ง การที่โฆษณาจะแสดงผลได้มีหลายปัจจัย ทั้งการปรับแต่ง Artwork การคิด Call To Action และ แน่นอนว่าส่วนสำคัญของการแสดงผลโฆษณาก็คือ Bidding หรือราคาประมูลนั่นแหละ ใครจ่ายราคาดีกว่า ก็มีโอกาสแสดงผลสูง
*ก่อนไปหัวข้อต่อไป ขอ Disclaimer ไว้ก่อนเลยว่า การระบุตัวตนด้วย Third Party Cookie แล้วหาเงินจากการโฆษณาในรูปแบบเดียวกับ Facebook อยากบอกว่า แพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นเหมือนกันหมดครับ
เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยิน คดีประวัติศาสตร์อย่าง Cambridge Analytica ที่ Facebook มีการปล่อยข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล 87 ล้านคนทั่วโลก และบริษัท Cambridge Analytica ได้นำข้อมูลผู้ใช้งานมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียง โดยการยิง Targeted Ads จนโดนัลด์ ทรัมป์ พลิกสถานการณ์แซงชนะฮิลารี่ คลินตันไปได้ ต้องบอกว่าใน อเมริกานั้นการเลือกตั้งจะถูกแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ โดย Cambridge Analytica จะวิเคราะห์สเตตัสจากกลุ่มผู้ใช้งานว่ากำลังสนใจอะไรอยู่ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ Social Listening จากนั้นจึงยิงโฆษณาเกี่ยวกับข้อมูลชุดนั้น เพื่อเพิ่มความนิยมให้ โดนัลด์ ทรัมป์ คดีนี้เป็นแรงเสริมให้กฎหมาย GDPR ออกมาเร็วขึ้น
เมื่อข้อมูลของเรามีค่ากับแพลตฟอร์มโฆษณาขนาดนี้ ก็มีบางแพลตฟอร์มที่ใช้ข้อมูลลูกค้าแบบไม่เข้ารหัส ในการซื้อขายรายชื่อเพื่อให้ได้มาซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการยิงโฆษณา หรือการบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน กฎหมาย GDPR จึงเกิดขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บริษัทที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มมาตรฐานการปกป้องข้อมูลต่าง ๆ โดยที่ข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล แน่นอนว่า Cookie ก็เป็น 1 ในนั้นครับ
หลังจากการประกาศกฎหมายฉบับนี้ หลาย ๆ บริษัทก็ได้มีการปรับตัวเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากค่าปรับมีราคาสูงมาก ในช่วงนั้นจึงเริ่มมีการทำ Cookie Consent เพื่อขอความยินยอมในการยิงโฆษณา และต้องมีการปรับระบบให้ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนความยินยอม รวมไปถึงยกเลิกบริการได้ด้วย ถือว่าเป็นความวุ่นวายของนักการตลาดมาก ๆ แต่ก็เป็นข้อดีที่เราสามารถมี Privacy ได้มากขึ้น
หลังจากปรับตัวเรื่องกฏหมาย GDPR ได้ ยังเจอเซอร์ไพรส์สำหรับนักการตลาด เมื่อ IOS 14.5 นั้นประกาศเรื่อง App Tracking Transparency ที่่สามารถให้ Apple บล็อกการติดตามพฤติกรรมในแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่นักพัฒนาต้องการติดตามได้ ต้องอธิบายว่าที่ APPLE สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะ Operation System หรือระบบปฏิบัติการณ์นั้น อยู่ในมือของ Apple เอง แต่ใครจะไปรู้ว่า Apple นั้นได้เก็บข้อมูลเราไว้คนเดียวหรือไม่ ซึ่งไม่ได้มีใครสนใจในส่วนนี้เยอะ เพราะ Apple ไม่ได้ทำตัวเองเป็น Advertising Platform เหมือนอย่าง Facebook และ Google แม้ว่า Apple เองจะคิดค่าบริการจาก App Store ของตัวเองทั้งส่วนแบ่งการดาวน์โหลด และการโฆษณาก็ตาม
พอทิม คุก ประกาศเรื่องในในวันเปิดตัวไอโฟน พี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ของเรานี่แทบหน้ามืดเลย เพราะใช้การ Tracking ด้วย Third Party Cookie อาจจะไม่ได้แล้วเนื่องจากโดน IOS บล็อก Facebook หุ้นตกรัว ๆ เลยช่วงนั้น การติดตามพฤติกรรมในแอพพลิเคชั่น Google เองพยายามหาทางเช่นกัน ซึ่งจริงๆ นั้นมี Solution ที่ถูกเตรียมไว้อยู่แล้ว แต่ดันต้องผลักมาใช้เร็วขึ้น เพราะพี่ทิม คุก คนเดียวเลย
เมื่อส่งข้อมูลผ่าน Third Party Cookie ไม่ได้แล้ว Marketing Platform ทุกเจ้านี่แทบจะจับมือกัน นำโดย Google เลย เพราะเป็นคนพัฒนา Google Tag Manager แบบ Server side อธิบายแบบง่าย ๆ การส่งข้อมูลแบบ Server Side ก็คือการส่งข้อมูลแบบ Payload แทนที่จะส่งด้วย Cookie ที่ถูกบล็อกเอาไว้ แน่นอนว่าสถิติการส่งผ่าน Cookies ที่เป็นฝั่ง Client Side นั้นมีอัตราความแม่นยำ น้อยกว่าแบบที่เป็น Server Side แบบไม่เห็นฝุ่น
ทีนี้ง่ายเลย เพราะการส่ง Conversion API นั้นจะไม่ถูกบล็อกได้ง่าย ๆ เนื่องจากเป็นการปกติเวลามีการเชื่อมต่อ API จะมีการรับส่งค่าผ่านทาง Server side อยู่แล้ว ทำได้อย่างมากเพียงแค่ Block IP ปลายทางเท่านั้น แต่มีวิธีการแก้ได้ไม่ยาก มันจะเป็นเรื่องเหมือนแมวจับหนู เลยไม่ค่อยมีใครนิยมบล็อกกัน
Google ได้พัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับการทำ Consent Mode หลังจากถูกปรับมหาศาล ในกรณีที่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการ Google ได้มีการอธิบายว่า Consent Mode v.2 นั้นจะมีการตั้งค่า Cookie ตามประเภทการใช้งาน เช่น Neccessary Cookies, Security Cookies ,Marketing Cookies etc. เพื่อให้สามารถแยกวิธีการเก็บข้อมูลไปยัง Tools ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง และมีการทำ IP Masking รวมถึง Hash ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ คุณทดสอบการ Hashed ได้ที่ Hash SHA256
Consent Mode นั้นถูกพัฒนาให้สามารถทำงานบน Google Tag Manager ได้แบบเหลือเชื่อ โดยสามารถตั้งค่าให้ทำงานร่วมกับทุก Tag ที่มีการใช้งานอยู่ก่อนหน้านี้ได้ Google เพียงแค่เพิ่มขั้นตอนในการรัน Javascript ให้รัน Consent Mode ก่อน Tag ตัวอื่น ๆ และสามารถใช้ได้กับเว็บไซต์แบบธรรมดา และ Single Page Application อย่างกับเตรียมตัวไว้แล้ว!
นอกจาก Consent Mode แล้ว Google ยังพัฒนาระบบ API ให้สามารถลบผู้ใช้งาน เมื่อมีการยกเลิกบัญชีผู้ใช้งานในระบบทั้ง Universal Analytics และ Google Analytics 4
อย่างไรก็ตาม Google เอง ได้ยืนยัน ว่าเราสามารถทำนายพฤติกรรมของผู้ใช้งานผ่าน Analytics ได้ แม้ว่าจะยังอยู่ใน Consent Mode ก็ตาม ห้ะ! แน่ละใครจะไปรู้ว่า Google เก็บข้อมูลเราไป แต่ไม่บอกหรือเปล่า 55555 ของแบบนี้ใครจะไปรู้!!
Apple ประกาศจะตัว Parameter ที่เกี่ยวกับโฆษณา ออกจาก Safari ใน Private Mode ทำให้นักการตลาดไม่สามารถวัดผลจากการโฆษณาของ Third Partyได้ถูกต้อง ทีนี่ทุกคนถามว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคุกกี้ ซึ่งจริงๆ มันมีความเกี่ยวข้องกันทางอ้อม เพราะหลาย Analytics Tools และ Marketing Tools มีการใช้ Session จาก Cookie ในการกำหนดครั้งที่มีการเข้าใช้งาน พอมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ จะส่งผลให้บางแพลตฟอร์มมีการสร้าง Cookie ใหม่ตลอดเวลา นับว่ายังโชคดีที่ Apple ไม่ต้องตัด UTM Parameter ออกไป ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลผิดเพี้ยนไปมากกว่าเดิมอีก
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เชื่อว่าในอนาคตก็จะมีเรื่องอะไรแบบนี้เรื่อย ๆ กูเกิ้ลประกาศว่าจะไม่ให้ใช้ Third Party Cookie อีกต่อไป ใน Google Chrome ซึ่งอันนี้จะส่งผลต่อ Marketing Platform เจ้าอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นตัวเอง Google บอกว่าที Apple ใช้เรื่อง App Transparency ไม่เห็นมีใครว่า ก็เลยขอทำบ้าง แต่บอกว่าสามารถส่งข้อมูลให้ Marketing Platform ได้นะ แต่จะเข้ารหัสไปเพื่อไม่ให้ระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ แหม ทีตัวเองนี้รู้ทุกอย่าง 55555
ใครได้รับผลกระทบบ้าง ต้องบอกสำหรับการโฆษณาโดยใช้ First Party Cookie นั้นไม่ได้รับผลกระทบเลยแม้แต่น้อย แต่สำหรับการโฆษณาด้วย Third Party Cookie จะมีประสิทธิภาพที่ลดลงในด้านที่กลุ่มเป้าหมายที่มีความแม่นยำน้อยลง
อย่างไรก็ตาม Google ก็อนุญาตให้เรียกใช้ First Party Cookie ได้ตามปกติ ดังนั้นสำหรับสาย Web Analytics ก็ถือว่าสบายใจได้ระดับนึง นอกจากนี้การขยับตัวของ Browser อื่น ๆก็มีทั้งรูปแบบที่จำกัดการใช้งานของ Third Party Cookie อย่างเช่น Brave , DuckDuckGo ให้เลือกใช้ เพื่อป้องกันการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งาน แต่ก็ใช้กันในวงแคบ ๆ เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนแบ่งการตลาดเท่า Google Chrome เรียกได้ว่า Google นั้นครองข้อมูลการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลก ได้มากที่สุด
Cookie นั่นมีจุดเริ่มต้นมายาวนาน ตั้งแต่ถูกใช้ในงานระบบการจดจำผู้ใช้งาน จนถึงการทำโฆษณาในปัจจุบัน การประกาศของ Google เรื่อง Cookieless ผมก็มองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว การทำการตลาดในยุคสมัยนี้ต้องปรับตัวไว ใครก็ตามที่สามารถตามทันเทคโนโลยี และเข้าใจพอที่จะนำไปอธิบายคนทั่วไปได้ ก็จะเป็นคนที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการตัว เนื่องจากงานสาย Web Analytics จะต้องทำงานในส่วนที่เป็น Software Developer และ ฝั่งที่เป็น User โดยเฉพาะเมื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องการจะมีคลังข้อมูลเป็นของตัวเอง เพื่อนำข้อมูลมาหาเงินต่อในส่วนอื่น ๆ อย่างการทำ Audience และ Segmentation จะต้องมีคนวิ่งเข้าหาเราอย่างแน่นอน ที่สำคัญคุณต้องฉลาดพอที่จะตามทันแพลตฟอร์มต่าง ๆ และแก้เกมส์ให้เป็นด้วย เพราะหลาย ๆ ครั้งทางออกมันมีมากกว่า 1 ทาง แค่ว่าทางไหนมันจะเหมาะกับบริษัทเรามากกว่ากัน
สำหรับผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเบราเซอร์ทั่วไป มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เหมือนที่ธานอสได้พูดไว้ว่า " I AM INEVITABLE " นักการตลาดจะตามติดคุณไปเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นงานของเขา เรื่องความเป็นส่วนตัว ถ้าให้กล่าวจริง ๆ ละก็มันเหมือนสิ่งที่มีอยู่จริง แต่มันไม่สามารถจับต้องได้เลย แม้แต่น้อย
Share your experience with this Blog